ชอบเลยเอามาแปะไว้ครับ
----------------------------------------------------------------------------------
วันที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4129 ประชาชาติธุรกิจ ถอดรหัส ศก.พอเพียงกับไอทีไทย ของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล |
ขณะที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะพูดคุยให้ ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจ พอเพียง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างถ่องแท้
แต่วันนี้ ดร.สุเมธเปิดโอกาสให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองเรื่องไอที แม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีแต่มุมมองการพัฒนาไอซีทีจากคนวงนอกวัย 70 ปี ที่ ดร.สุเมธบอกว่า คนแก่ไม่ใช่ ความรู้เยอะ แต่เห็นข้อผิดพลาดเยอะ
"วันนี้การใช้ไอทีของบ้านเราเกินครึ่งใช้ไปในเรื่องไร้สาระ เพราะเมืองไทยทำอะไรไม่มีฟาวเดชั่น พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงก็ยังไม่มีใครเข้าใจ สิ่งสำคัญจะทำอะไรต้องวางรากฐานในแน่นก่อน เพราะสร้างบ้านยังไม่ทันลงเสาเข็มเลย ติดประตูหน้าต่าง ขนเฟอร์นิเจอร์หลุยส์เข้าไปบ้านก็พัง นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤต"
สมัยที่รับราชการประเทศไทยพูดถึงการพัฒนาไอทีก็จะมุ่งไปที่การซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ สมัยก่อนก็ต้องเป็นแอปเปิล แมคอินทอช โทรศัพท์มือถือยาวเท่าศอก แล้วที่สุดการพัฒนาไอทีของไทยก็เข้าไปสู่ฮาร์ดแวร์ โดยไม่ได้วางรากฐานเรื่องคนทำให้วิ่งไล่ซื้อฮาร์ดแวร์กันไป ไฮเวย์ต่างๆ ก็ไม่ได้วาง
ขณะที่ประเทศสิงคโปร์วางแผนพัฒนาไอทีประเทศ โดยนโยบายที่ประกาศออกมาข้อแรกคือ ห้ามหน่วยราชการต่างๆ ซื้อคอมพิวเตอร์ แต่ให้สหรัฐมาวางโปแกรมพัฒนาคนไอที วางหลักสูตรในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อผลิตคน พร้อมๆ กับการวางเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน พอปีที่ 3-4 คนก็จบออกมาก็พอดีกับการวางโครงสร้างพื้นฐานเรียบร้อย ทำให้คนที่ออกมามีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีไปสร้างประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า
แต่สำหรับเมืองไทยช่างที่เก่งๆ ของคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะเป็นการเริ่มจากภาคปฏิบัติมาเป็นผู้ชำนาญการ แต่พอไปถึงระดับหนึ่งก็ไม่สามารถต่อยอดได้
นอกจากนี้อาจารย์สุเมธกล่าวว่า หลักของความพอเพียงสำหรับการใช้ไอทีเป็นหลักการเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เรื่องการประหยัด แต่ความพอเพียงในเรื่องของไอทีก็คือความมั่นคง ความสมดุล ยั่งยืน แต่ที่ผ่านมาเมืองไทยไม่ได้สร้างรากฐานให้มั่นคง ยั่งยืน ทำให้วันนี้การใช้ ไอทีเป็นการใช้ในเรื่องสาระและความบันเทิงมากกว่าการนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ การลงทุนไอทีไทยก็เหมือนเอ็นพีแอล ผลที่ได้ไม่คุ้มค่า กู้เงินมาแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดกำไร
"เราไม่ได้สร้างฐานไว้อย่างมั่นคง การต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าก็เป็นเรื่องยาก" ดร.สุเมธกล่าวและว่า
ทางแก้ไขก็คือต้องปรับแก้กันที่ระบบ อย่างที่คนนิยมพูดกันคือต้องบูรณาการ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพูดกันแต่ไม่มีการลงมือทำ เมืองไทยมีทุกอย่าง แผนก็มี แต่เวลาเดินก็ไม่ได้เดินตามแผน "อย่างตอนนี้ตัวเองได้โทรศัพท์มือถือโนเกีย เอ็น 97 มาเครื่องนึง ซัพเฟอร์มาประมาณ 2 อาทิตย์แล้ว ใช้ไม่คุ้มค่า ตอนแรกแค่รับก็ทำไม่ได้ มูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นบาท ดังนั้นการที่จะใช้ให้คุ้มค่าผมก็ต้องเรียนรู้ เลิร์น ทู แมกซิไมซ์ การใช้จึงจะเกิดความคุ้มค่า"
เทคโนโลยีทำได้ทุกอย่าง แต่ปัญญาของเรายังทำไม่ได้ ดังนั้นประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ ปัญญาต้องเกิดขึ้นด้วย
เช่นเดียวกับการลงทุนไอทีของประเทศ ลงทุนเป็นแสนล้านแต่นำมาใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เพราะประเทศไทยไม่ได้วางรากฐานสร้างปัญญาให้กับคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น