"บลอนดินผู้ยิ่งใหญ่" นักไต่เส้นลวดผู้ประกาศต่อโลกว่าจะเดินข้ามน้ำตกไนแองการาบนเส้นลวด ผู้ชมกว่า 5 พันคนรวมทั้งเจ้าชายเวลส์จากอังกฤษก็มาเฝ้าชม เมื่อบลอนดิน เดินได้ครึ่งทางเขาก็หยุดกึก ตีลังกากลับหัวกลางอากาศ เท้าเหยียบเส้นลวดอย่างมั่นคงอีกครั้ง แล้วก็ถึงอีกฝั่งโดยปลอดภัย
ในปีเดียวกัน บลอนดินข้ามน้ำตกนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งหนึ่งเขาข้ามโดยมีผ้าปิดตา ครั้งหนึ่งเขายกตำอบข้ามไปด้วย ครั้งหนึ่งข้ามในสภาพถูกล่ามโซ่ และครั้งหนึ่งเขาก็ข้ามด้วยการขี่จักรยาน ก่อนที่บลอนดินจะข้ามน้ำตกบนเส้นลวดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเที่ยวนี้เขาจะผลักรถเข็นล้อเดียวข้ามไปด้วย เขาก็หันมาหาผู้ชม และตะโกนว่า
"ใครบ้าง เชื่อว่าผมจะผลักรถเข็นคันนี้ข้ามไปได้" ทุกคนยกมือ บลอนดินชี้ไปที่ชายคนหนึ่ง
"คุณเชื่อว่าผมจะทำได้ไหมครับ?" เขาถาม
"เชื่อ ผมเชื่อว่าคุณทำได้" ชายคนนั้นตอบ
"คุณมั่นใจหรือเปล่า?" บลอนดินถาม
"มั่นใจ" ชายคนนั้นตอบ
"มั่นใจจริง ๆ ?"
"ครับ ผมมั่นใจจริง ๆ"
"ขอบคุณครับ" บลอนดินตอบ "ถ้าอย่างนั้น ขอเชิญให้คุณเข้ามานั่งในรถเข็นหน่อยครับ"
เรื่องของ บลอนดินจบลงแค่นี้ครับ จริง ๆ ในหนังสือเล่มนี้ มีคำพูดเด็ด ๆ และคำสอนดี ๆ อัดไว้เพียบครับ อย่างเรื่องบลอนดินนี่ เค้าก็เขียนได้ดีจริง ๆ ทั้งวิธีเล่าเรื่องและส่วนขยาย ... แต่ผมจะข้ามมันไปครับ ใครอยากรู้คงต้องหาซื้อมาอ่านดู
ตอนผมอ่านเรื่องบลอนดินมันโดนใจจริง ๆ ในชีวิตเรามีอยู่หลายสถานการณ์เหลือเกินที่ ความรู้ หรือความเชื่อ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าเราเอาชนะอารมณ์ไม่ได้ สมัยจบใหม่ ๆ ผมพยายามจะลองทำหลายเรื่อง แต่ว่าส่วนมากก็จะวางตัวไว้ใน safety zone (สมัยนั้นก็ไม่ได้คิดยังงี้หรอกครับ พอมามองย้อนหลังไปมันถึงจะรู้) ผมโดนชี้หน้าถามครั้งแล้วครั้งเล่าว่า นั่งรถเข็นไปด้วยกันรึเปล่า แต่ส่วนมากผมจะวางตัวเองไว้ในจุดที่ปลอดภัย นั่นทำให้ผมไม่เคยได้เป็นอย่างบลอนดิน
ถ้าเราต้องการที่จะเกินมาตรฐาน บ่อยครั้งที่เราจำเป็นต้องเสี่ยง
การเลือกที่จะเสี่ยงอย่างเดียวก็เป็นการกระทำของคนบ้าครับ
เมื่อก่อนผมเข้าใจว่า
เรื่องยากจริง ๆ ก็คือ การรู้ว่าเมื่อไหร่ และอะไรที่ควรเสี่ยง
แต่เรื่องที่ยากกว่าเรื่องยากจริง ๆ คือ รู้ว่าตัวเองรู้อะไร ไม่รู้อะไร และรู้ว่าสิ่งที่รู้มันจริงแค่ไหน
แต่พอทำงานมาก ๆ เข้า
ผมว่าการเสี่ยง คือการรู้ว่าจะยอมสูญเสียได้แค่ไหน ในแผนการที่เตรียมมาอย่างดี การรอให้อะไรสมบูรณ์แบบ มันมักจะทำให้สายเกินไป หรือไม่ก็ยากเกินไป อีกอย่างนึงคือ เราไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมากมายเหมือนสมัยก่อน เรารู้แค่เรื่องบางเรื่อง และรุ้ว่าเรามีทักษะเรื่องนี้ดีแค่ไหน จากนั้นก็ประยุกต์ใช้ทักษะนี้กับทุกเรื่อง หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงที่จะทำเรื่องที่เราไม่ได้ใช้ทักษะนี้ (หรือไม่ก็หัดทักษะเพิ่ม)
ไม่ได้จะบอกว่าสิ่งที่คิดสมัยก่อนผิด หรือสมัยนี้ถูกนะครับ
สิ่งที่ผมได้จริงๆ คือ ตอนที่อ่านเนี่ย มันมีความคิดประมาณว่า
อย่างงี้สิวะถูก อย่างงั้นผิด ต้องเลือกยังงี้ ทำไมเลือกยังงั้น
โลกนี้ไม่มีความสำเร็จกึ่งสำเร็จรูป ไม่มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น
ชีวิตไม่ใช่มาม่า ... คิดว่ารู้มานานแล้วแต่พึ่งจะเข้าใจนี่แหละครับ